SCB EIC ปรับเพิ่ม GDP เป็น 3.9% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัว

SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 3.9%  ขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัวดี

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ  รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในกรณีฐาน SCB EIC มองเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกเพิ่มจาก 1.8% เป็น 2.3% เนื่องจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาดจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนหลังกลับมาเปิดประเทศในรอบสามปี นอกจากนี้ สถานการณ์ Silicon Valley Bank ในสหรัฐฯ ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องและถูกปิดลงคาดว่าจะมีแนวโน้มทำให้สภาพคล่องและความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับลดลงเล็กน้อยในระยะสั้น ความเสี่ยงที่จะลุกลามจนเกิดวิกฤตการเงินโลกเหมือนในปี 2551 ยังมีน้อย แต่มองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกระทบเศรษฐกิจ การค้า และห่วงโซ่อุปทานโลกได้” 

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า “ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปของโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ธนาคารกลางให้ความสำคัญมีแนวโน้มชะลอลงได้ช้ากว่า ธนาคารกลางจึงมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นกว่าระดับที่เคยคาดไว้ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.25-5.5% (เดิมคาด 5.0-5.25%) เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 3.75% (เดิมคาด 3.25%) ภาวะทางการเงินโลกจะตึงตัวขึ้นอีกไม่มากนัก”

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า “ในกรณีที่สถานการณ์ลุกลามจนเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EMs จะได้รับผลกระทบรุนแรงตามไปด้วยผ่าน 4 ช่องทาง คือ การส่งออกแย่ลง เงินทุนไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ภาวะการเงินในประเทศตึงตัว นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ EMs ที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศอ่อนแอจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงิน เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกและภาวะการเงินตึงตัว ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญความผันผวนสูงตามทิศทางตลาดการเงินโลก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเช่นในอดีตทั้งนี้ตลาดการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง แม้ต้องเผชิญความผันผวนสูงในช่วงวิกฤตการเงินที่ผ่านมาหลายครั้งความผันผวนของภาวะการเงินไทยโดยรวมไม่ได้ส่งผลต่อระดับความตึงตัวของภาวะการเงินมากนัก ผลกระทบผ่านช่องทางตลาดทุนต่อความมั่งคั่งของครัวเรือนในภาพรวมมีจำกัด”

สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเช่นกัน เพราะอาจกระทบการใช้จ่ายภาครัฐได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความเร็วในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลชุดใหม่ โดยในกรณีฐาน SCB EIC มองว่า การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2566 เท่าไรนัก เพราะรัฐบาลปัจจุบันได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่าน ๆ มา รวมถึงได้เร่งอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ คาดว่าอัตราเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้รัฐบาลรักษาการและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่จะต่ำลงบ้าง และ พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2567 จะประกาศใช้ล่าช้าไม่เกิน 3 เดือน แต่หากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่ากรณีฐาน อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปีนี้และปีหน้าได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ”

SCB EIC คาดว่า ในกรณีฐาน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีสู่ระดับ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อไทยจะยังไม่ปรับลดลงเร็วนัก ทั้งนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขาขึ้น การทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน จะทำให้ภาวะการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่จะปรับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่า โดยเฉพาะหลัง Fed เริ่มหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี

#SCB #ธนาคารไทยพาณิช #ข่าวธุรกิจ #ข่าวเศรษฐกิจ #การท่องเที่ยว